เธอคือผู้หญิงที่ทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับชาวนาไทย

“น่าแปลกที่ว่า ถึงเราจะกินข้าวกันอยู่ทุกวันแต่ปัญหาความยากจนของชาวนากลับไม่เคยหายไปจากสังคมเกษตรกรไทยสักที แม้ประชากรจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของไทยจะเป็นชาวนาก็ตาม”

คำพูดดังกล่าวเป็นเหมือนไฟฉาย ที่ส่องให้เราเห็นภาพความยากจนของชาวนาไทยได้เป็นอย่างดี

และจากไฟฉายก็กลายมาเป็นสปอตไลท์ที่ทำให้ภาพมันชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อรู้ว่าเจ้าของคำพูดนี้คือคุณ ปาล์มมี่ พรธิดา วงศ์ภัทรกุล ลูกค้าคนเก่งของ Mo. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Siam Organic บริษัทที่ทำธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชาวนาไทย ผ่านระบบที่เธอสร้างขึ้นมาเอง ทำให้ชาวนาไม่ต้องพึ่งพารัฐ ไม่ต้องเอาข้าวไปผ่านโรงสีให้ถูกกดราคา

ด้วยการเข้าไปทำงานร่วมกับเกษตรกรแบบทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การเก็บเกี่ยว การวางแผนในการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ และการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้า ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่าการทำนาแบบในระบบเดิมๆ

จากจุดเริ่มต้นที่อยากจะหาทางออกเพื่อจะได้ไม่ต้องกลับไปทำงานประจำอย่างการเป็น Financial Consulting ที่แม้รายได้จะดี ทำให้มีเงินใช้แบบสบายๆ แต่เงินก็ไม่สามารถซื้อทุกอย่างได้โดยเฉพาะกับ ‘ความสุข’ ของเธอในตอนนั้น

ประกอบกับเป็นช่วงที่กำลังจะเรียนจบปริญญาโท แล้วทางมหาวิทยาลัยมีโครงการมาให้ประกวดแผนธุรกิจอยู่พอดี เธอจึงไม่เลือกที่จะกลับไปทำงาน Financial Consulting  งานที่รายได้ดีแต่ไม่มีความสุขอีกต่อไป แล้วตัดสินใจมาลองทำแผนธุรกิจอย่างเต็มตัว

ที่ในตอนนั้นคิดแค่ว่า

“เอาวะ! อย่างน้อยถ้าไม่ชนะ ก็ถือว่าได้เคยลองทำแผนธุรกิจจริงๆ จังๆ สักตั้ง เผื่อมันจะได้ความรู้อะไรมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองบ้าง”

โดยเธอเลือกที่จะทำแผนธุรกิจแบบ Social Enterprise หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม ที่ออกมาในรูปแบบของการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชาวนา ด้วยเหตุผลของ‘ข่าวคาว’เรื่องการรับจำนำข้าว ซึ่งกำลังกลายเป็น Issue ในตอนนั้น

จนเมื่อได้ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเอามาทำแผนธุรกิจ มันยิ่งทำให้เธอพบกับความเน่าเฟะของระบบชาวนา ที่ตัวเธอเองก็ยังสงสัยว่าพวกเขาทนหลังขดหลังแข็ง อยู่กับระบบแย่ๆ มานานขนาดนี้ได้ยังไง

แย่ขนาดไหนนะหรอ? เพราะกว่าข้าวแต่ละเม็ดที่ชาวนาปลูกจะตกมาถึงปากให้เราได้กินกันอิ่มท้อง หรือบางทีก็อิ่มเกินจนกินทิ้งกินขว้างอย่างที่หลายคนชอบทำ มันจำเป็นจะต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อชาวนา ที่พวกเขาได้ผลตอบแทนเฉลี่ยแค่ 40 เซน/วัน (เป็นรายได้เฉลี่ยนของเกษตรกรในภาพอีสานเท่านั้น) ที่พอฟังแล้วก็ไม่อยากคิดออกมาเป็นเงินไทย เพราะเห็นตัวเลขที่ออกมาเป็นเงินบาทแล้วรู้สึกปวดใจ

ที่มันน้อยขนาดนี้เป็นเพราะว่าในปีนึงชาวนาสามารถปลูกข้าวได้เพียงแค่ครั้งเดียว แต่เป็นครั้งเดียวที่ต้องเก็บรายได้นั้นเอาไว้กินกันทั้งปี ส่วนถ้าช่วงไหนไม่ใช่ฤดูปลูกข้าวพวกเขาก็มักจะไปหาเงินจากการรับจ้างหรือขับแท็กซี่แทน ที่แม้จะขยันขนาดไหนแต่ก็ยังไม่เคยเพียงพอต่อการจ่ายหนี้สิน 

ไม่ใช่แค่กับตัวชาวนาเท่านั้น แต่ Process ต่างๆ ของการขายข้าวก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวนาไทย ‘จน’ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงสีที่ตัดราคาค่าความชื้น สิ่งเจือปน ความบริสุทธิ์ของข้าว จนทำให้ชาวนาแทบไม่เหลืออะไรกลับมา

หรืออย่างโครงการรับจำนำข้าวของรัฐ ที่ชาวนามี Mindset ผิดๆ คิดว่าปลูกข้าวออกมาได้มากน้อยแค่ไหน ยังไงรัฐก็ต้องรับซื้อ พวกเขาก็เลยไปกู้หนี้ยืมสินมาลงทุน แต่สุดท้ายข้าวล้นตลาด จากที่คิดว่าจะรวยก็กลายเป็นจนแบบติดลบ

ในเมื่อไม่สามารถแก้ไขระบบเน่าๆ ที่มีมานานได้ คุณปาล์มมี่จึงเลือกที่จะสร้างระบบขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง และระบบใหม่ที่ว่านั้นก็ทำให้ทุกคน win-win กันทุกฝ่าย ชาวนาไม่ถูกกดราคาข้าวเหมือนอย่างที่ผ่านมา ผู้บริโภคได้กินข้าวที่มีคุณภาพ และกับตัวเธอเองที่ได้ทั้งช่วยเหลือชาวนาและแถมยังสร้างรายได้ให้กับบริษัทในเวลาเดียวกัน

ระบบที่ว่าคือการเข้าไปทำงานเชื่อมโยงกับเกษตรกรทั้งระบบ ตั้งแต่จัดหาเมล็ดพันธุ์ จัดหาแหล่งเงินทุน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ระบบการปลูกอินทรีย์ และข้าวไปสีในโรงสีเล็กๆที่มีกลุ่มเกษตรกรเป็นเจ้าของ ที่จะทำให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการสีข้าวและค่าแรงการแพ็คข้าว มีการแปรรูปสินค้า และจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ “แจสเบอร์รี่”

และด้วย Business Model ที่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชาวนาไทย แถมยังสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้ในเวลาเดียวกัน จึงทำให้ แจสเบอร์รี่ ได้รับรางวัลที่ 1 ถ้วยพระราชทานจากการประกวดแผนธุรกิจของตลาดหลักทรัพย์ MAI ไปครอบครอง

แม้คุณปาล์มมี่จะไม่เคยทำแผนประกวด ไม่มี base ความรู้เรื่องชาวนามาก่อนหน้าเลยก็ตาม

เรื่องการประกวดยังไม่จบแค่นั้น! เพราะแผนธุรกิจของเธอยังได้ถูกส่งไปชิงรางวัลต่อในประเทศแคนาดา ซึ่งคู่แข่งก็ล้วนเป็นชาวต่างชาติที่คุณปาล์มมี่บอกว่า “มีแต่คนมาจากมหาวิทยาลัยดังๆ ที่เราคงไม่มีปัญญาสอบเข้าไปได้” แต่สุดท้ายเธอก็สามารถคว้ารางวัลที่ 1 จากเวทีนี้มาครอบครองจนได้ และนั่นก็ทำให้เธอเริ่มเกิดความมั่นใจ จนมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแผนธุรกิจที่อยู่ในกระดาษให้กลายเป็น Social Enterprise ที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาได้จริงๆ

เท่าที่พูดมาเหมือนจะเป็นเรื่องที่ดูไม่ยาก เป็น step by step ไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?

แต่การทำแผนธุรกิจ กับการลงมือทำธุรกิจจริงๆ นั้น…..แตกต่างกันมาก 

เพราะถ้ามีผู้หญิงขาวๆ หมวยๆ ดูเป็นคนกรุงเทพเดินดุ่มๆ เข้ามาคุยกับชาวนาเรื่องธุรกิจ พวกเขาก็จะเริ่มรู้สึกมี Barrier บางอย่างเกิดขึ้นมาในใจว่าคนกลุ่มนี้จะมาหาผลประโยชน์ที่คาดหวังแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ และต้องมาเอาเปรียบพวกเขาแน่ๆ  คุณปาล์มมี่จึงต้องเปลี่ยนภาพลักษณ์จากนักธุรกิจให้กลายเป็นคนที่จะเข้าไปให้ความรู้กับชาวนาในฐานะของที่ปรึกษาของธนาคารแทน แล้วค่อยๆ พูดคุยกับเกษตรกรเกี่ยวกับ project การปลูกข้าวออร์แกนิคว่ามันจะดีกับพวกเขายังไง

จนสุดท้ายในปีแรกที่ทำ ก็มีเกษตรกรที่สนใจมาเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ครัวเรือน

พอหาเกษตรกรที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการได้ ก็ไม่ใช่ว่าจะลงมือปลูกข้าวออร์แกนิคได้ทันที เพราะถ้าจะทำให้มันเป็น ‘ออร์แกนิคอย่างแท้จริง’ ที่ได้มาตรฐานจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับหน้าดินนานถึง 3 ปี! ซึ่งเป็น 3 ปีที่ยังต้องจ่ายเงินให้กับชาวนาอยู่ตลอดเวลา!

แถมาบางครั้งก็ยังเจอกับชาวนา ‘ขี้เกียจ’ ไม่ยอมทำนาดำ มักง่ายจะทำแต่นาหว่านเพราะรักความสบาย จนทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เธอก็ต้องยอมตัดใจทิ้งชาวนาเหล่านี้ไป

แม้ตอนนั้นจะผลิตไม่ทันต่อความต้องการของตลาดแล้วก็ตาม

หากต้นข้าวต้องการเวลาเติบโตฉันใด บริษัท Siam Organic ก็ต้องการเวลาในการเติบโตฉันนั้น

เพราะในช่วงที่ยังไม่คืนทุน แถมยังต้องจ่ายเงินให้กับชาวนาอยู่ตลอดเวลา เงินเดือนจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคาร คือรายได้หลักที่ทำให้เธอสามารถอยู่ได้ในตอนนั้น

เป็นคนอื่นก็อาจจะตัดใจเอาข้าวออกขายพร้อมเคลมว่ามันป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคแล้ว แต่เธอกลับอดทนที่จะไม่ทำ

เพราะถึงแม้ข้าวแจสเบอร์รี่ของตัวเองมันมีประโยชน์มากมายขนาดไหน แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องยอมรับว่าคนไทยยังคุ้นเคยกับการกินข้าวขาวอยู่ดี ถ้าไม่อดทนทำผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐานจนสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ รับรองว่าธุรกิจของคุณเธอจะต้องติดกับดัก ‘การตัดราคาของคู่แข่งในประเทศ’ ที่แข่งกันทำราคาถูกแล้วก็ไปลดต้นทุนจากชาวนา ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็เข้าหลูป ‘ชาวนาจน’ เหมือนเดิมอยู่ดี

แล้วแบบนี้เธอจะคิดแผนธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวนามาตั้งแต่แรกไปเพื่ออะไร

จนถึงปัจจุบัน ข้าวแจสเบอร์รี่ที่เกิดจากแรงกายและความตั้งใจของผู้หญิงคนหนึ่ง ก็ถูกส่งไปขายตามโมเดิร์นเทรดเกรดพรีเมี่ยมอย่าง Gourmet และ Villa รวมถึงมีการส่งออกยังไปยังอเมริกา ที่แม้จะมีราคาแพงกว่าข้าวธรรมดาทั่วไปหลายสิบบาท แต่ตลาดของคนรักสุขภาพก็ใหญ่มากพอที่ทำให้สินค้าของเธอสามารถขายได้

แถมในตอนนี้ยังขาดตลาดอีกด้วย!

ปีที่แล้วทางทีม Siam Organic ได้คว้ารางวัลที่ 1 ในหลายรายการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม รวมถึงงาน Global Entreprenuership Summit 2016 ที่ Silicon Valley ซึ่งเป็นเวทีที่มีบารัค โอบามา เดินทางมาร่วมงานด้วย

และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กับการประกวดธุรกิจเพื่อสังคมบนเวทีระดับโลกอย่าง The Chivas Venture ที่มีคู่แข่งจาก 30 ประเทศ  6 ทวีปทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน

และทีมของเธอก็ได้ เป็นตัวแทนจากคนไทย ที่สามารถคว้าชัยชนะบนเวทีการประกวดธุรกิจเพื่อสังคมระดับโลกนี้มาครอบครอง อย่างที่ไม่เคยมีคนไทยคนไหนทำได้มาก่อน

พร้อมกับเงินรางวัล USD400,000 หรือตีเป็นเงินไทยขำๆ ก็แค่ 13 กว่าล้านบาทเอง !!

ซึ่งเงินรางวัลที่ว่าก็ไม่ได้เอาไปไหน แต่กลับนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ  เพื่อช่วยเหลือและยกระดับให้ชาวนาไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โค-ตร คูลลลลล !

จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ความคิดและแรงกายของผู้หญิงคนนึงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชาวนาได้กว่า 1,000 ครัวเรือน แถมพอเห็นว่าพ่อแม่เริ่มมีรายได้ ลูกหลานชาวนานทั้งหลายก็ย้ายออกจากกรุงเทพ กลับบ้านมาช่วยที่บ้านทำนามากขึ้น

เมื่อถามกลับไปว่าแล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้เธอเป็นผู้หญิงเก่ง ที่สามารถทำเพื่อตัวเองและสังคมแบบนี้ได้ ? คำตอบด้านล่างนี้คงจะเป็นประโยคที่ช่วยปิดท้ายบทความนี้ให้ออกมาสมบูรณ์ไม่น้อยเลยทีเดียว

“คือเราไม่ได้คิดว่าผู้หญิงหรือผู้ชายแตกต่างกันตรงไหนเลย อย่างพาร์ทเนอร์ผู้ชายอีกคนเป็นโรคไขข้อเราก็ยังต้องไปช่วยแบกข้าว (ฮ่าๆ ) เอาจริงๆ แล้วเราคิดแค่ว่าอยากจะทำอะไรบางอย่างให้สุดความสามารถที่คนๆ นึงจะทำได้

ไม่ได้อยากเกิดมาเป็นผู้หญิงที่แบบสวยไปวันๆ แต่งงาน มีลูก แล้วก็จบ เพราะเราคิดว่าการเป็นมนุษย์คนนึงมันสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น แม้จะเป็นเพศไหนก็ตามเถอะ”

Be Girl Boss like K.Palmy click Doctor Mo. New York BLACK